top of page
Search
Writer's pictureUnderdogs.

Read : (แมลง)ทับแก้ว

Updated: Dec 10, 2018



ช่วงนี้มีแต่คนโพสต์ถึง พูดถึง ศิลปากร และอาจารย์ศิลป์ ผมก็อยากพูดถึงศิลปากรบ้าง แต่ผมเรียนที่ทับแก้ว วิทยาเขตที่ อ.ศิลป์ พีระศรี ไม่เคยได้มา เพราะอาจารย์เสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ ก่อนที่ทับแก้วจะถูกใช้เป็นวิทยาเขตหนึ่งของศิลปากร ตั้งหลายปี

ดังนั้น ผมจึงต้องระลึกถึงศิลปากร ทับแก้ว ชีวิต และความสนุกในวัยรุ่น แทนที่จะระลึกถึงอาจารย์ และศิลปากร ท่าช้าง

ตอนปี 1

เรื่อง “หญิงสาวสไบเขียว คนหัวขาด เพชรฆาตล้างดาบ และตำอีกหลายนาน” ถูกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น หลอกหลอน สร้างความหวาดกลัวให้กับนักศึกษาใหม่ที่ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ ทำลายภาพชีวิตวัยรุ่นอันสนุกสนานของ “หนุ่ม นัท แคท เต๋า” ใน “น้ำใสใจจริง” ซะสิ้น

ผมจำได้ว่า ผมฟังเรื่อง “ผีทับแก้ว” ครั้งแรกในวงเหล้าหน้าคณะ สมัยที่ผมยังอยู่ปีหนึ่ง บนม้านั่งที่ถูกเรียกว่า “ซุ้มเห็ด” 3 ซุ้มถูกแบ่งเป็นโซนตาม 3 แนวทางของจิตวิญญาณ โซนเสี่ยงโชค โซนสุรา และโซนมิติลี้ลับ แน่นอนว่าผมไปอยู่ในโซนจิตวิญญาณ ซึ่งทำให้หลังจากคืนนั้น ทุกตารางเมตรในทับแก้วก็น่ากลัวไปหมด

ถ้าธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว (และเคยมีเสรี วงษ์มณฑา) ศิลปากรเนี่ยยิ่งกว่า เพราะมีทั้งเสรีภาพ และเสรีผี

ผมเป็นคนกลัวผี แต่ก็รู้ว่าตัวเองไม่สามารถรับคลื่นความถี่ตรงกับวิญญาณได้ ความกลัวนั้นเลยเป็นความกลัวแบบก้ำกึ่ง กลัวบ้างไม่กลัวบ้าง สามารถใช้ชีวิตในความมืดได้ค่อนข้างปกติ ไม่ถึงกับกลัวจนขี้หดตดหาย เว้นเสียแต่เพิ่งฟังเรื่องผีมาหมาดๆ

ด้วยความที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของทับแก้วปกคลุมด้วยต้นไม้ซอกหลืบมากมายจึงถูกแต้มเต็มด้วยความมืด ขนาดเป็นตอนกลางวัน บางพื้นที่ก็ยังร้างแสง สำหรับคนช่างจินตนาการ ซอกหลืบหลายซอกจึงน่ากลัวกว่าปกติ เมื่อประกอบเข้ากับตำนานหลายเรื่อง ที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซอกหลายซอกจึงไม่น่าเข้าใกล้

ในตอนนั้น ตอนปีหนึ่ง สิ่งที่อยู่ในซอกหลืบตามความคิดของเด็กคงเป็น “ผี”

แต่เมื่อเข้าสู่ปีสอง ซอกหลืบเหล่านั้นกลับกลายเป็นดินแดนที่น่าค้นหา น่าจับจอง ในวัยที่ฮอร์โมนกำลังพลุ่งพล่าน จะผี จะงู จะยุง หรือจะคนก็ไม่กลัวทั้งนั้น ซอกหลืบที่แสนน่ากลัว กลายเป็นที่ซ่อนตัวของ

“แมลงทับ”

ไม่รู้ใครเป็นคนตั้งชื่อ “แมลงทับ” ให้กับกิจกรรมของวัยรุ่นกิจกรรมนั้น

การเป็นแมลงทับในซอก อาจเป็นเพียงการนั่งคุยเฉยๆ จับไม้จับมือ กอดจูบลูบคลำ ไปจนถึง... จุดที่สักวันเราก็ต้องไปถึงไม่ช้าก็เร็ว เพราะมันเป็นเรื่องสามัญธรรมดา และมันจะมาเมื่อถึงเวลาของวัย

ตามทฤษฎี อายุที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการมีบุตร สำหรับผู้หญิง คือ 23 ปี เพราะกระดูกเชิงกรานขยาย และแข็งแรงเต็มที่ ตามกฎหมาย หญิง-ชาย สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากบิดา-มารดา เมื่ออายุครบ 20 ปี เมื่อ สองพันกว่าปีก่อน เจ้าชายสิทธัตถะ โคตมะ อภิเษกสมรสด้วยวัย 16 ปี

สำหรับคนที่มีคู่ และไม่ได้อยู่หอรวม(เพศ)นอกมหาวิทยาลัย ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวเพียงพอ ซอกหลืบอาจจะเป็นที่ ที่พวกเขาจะได้แลกเปลี่ยนอะไรบางอย่าง ปรับแต่งความเข้าใจ และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

สำหรับคนไร้คู่ การออกไล่จับแมลงทับ เป็นเรื่องน่าสนุกไม่น้อย การได้เห็นคนรักกัน ย่อมเป็นสิ่งที่สวยงามอยู่แล้ว (หึหึ )

หากกิจกรรมที่เรียกว่า แมลงทับ ถูกบันทึกภาพ และเผยแพร่สู่อินเตอร์เน็ต

กิจกรรมธรรมดาอาจกลายเป็นเรื่องน่าหนักใจของประเทศ เป็นความเสื่อมโทรม ด้อยคุณภาพของระบบการศึกษา แต่ในความเป็นจริงของเรา การมีอยู่ของแมลงทับ ไม่ใช่สิ่งน่าขยะแขยง ไม่ใช่หมุดหมายของความล่มสลายในสังคม

มันเป็นพียง ธรรมดาของธรรมชาติ เป็นเพียงกิจกามที่เกิดขึ้นตามวัย หากจะโทษ ต้องโทษธรรมชาติที่สร้างเรามาแบบนี้ สร้างทุกชีวิตบนโลกมาเพื่อสืบเผ่า สร้างคนทุกคนมาเพื่อสืบพันธุ์

ตอนอยู่ปี 2

ผมกับเพื่อน รุ่นน้อง และรุ่นพี่ ได้คิดและทำกิจกรรม เพื่อล้อเล่นกับการมีอยู่ของแมลงทับที่ทับแก้ว พวกเรา “แกล้งเป็นแมลงทับ” เพื่อดูพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็นของ “คนจับแมลงทับ”

(ถ้าตอนนั้นมียูทูป เราอาจจะดังเหมือน มายเมดเนท หมายถึง คงถูกด่าด้วยเช่นกัน)

พวกเราเลือกม้านั่งม้าหนึ่ง ที่อยู่หลังพุ่มไม้ ไม่ห่างจากถนนเล็กๆที่เชื่อมระหว่างหอพักทับแก้ว 2 และคณะวิทยาศาสตร์ (คนทับแก้วเรียกว่า “เกาะนก” ไม่รู้ทำไมนก) เราไปซ่อนกันอยู่หลังพุ่มไม้นั้น และส่งเสียง “อิคึ อิตัย” ทุกครั้งที่มีจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ขี่ผ่าน เพื่อ “ล่อเหยื่อ”

ไม่นานนัก ผมเห็นว่า คนขี่มอเตอร์ไซค์คนหนึ่งสัมผัสได้ถึงพลังงานที่ซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ เขาจอดรถ แล้วค่อยๆ ย่องเลาะป่า เข้ามาหาพุ่มไม้ที่เราอยู่ เขาหมอบต่ำประหนึ่งว่า อยู่ในสมรภูมิรบ เขาค่อยๆย่องมาด้วยฝีเท้าเบาหวิว อย่างกับแมวขโมยที่หมายคาบปลาทู

ความอยากรู้ อยากเห็นคงแน่นเต็มอกของเขา ความอยากแกล้งของพวกเราก็คงเยอะพอๆกันนั่นแหละ

เมื่อเขาเข้ามาใกล้จนเกินกว่าจะทนไหว พวกเรากระโจนกันออกจากพุ่มไม้ (คนไม่ต่ำกว่า 5 คนกระโจนจากพุ่มไม้) พร้อมกับส่งเสียงโห่ร้อง

เขาตกใจ พลางถอยหนี สีหน้าของเขา(ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้) ทั้งโกรธ ทั้งอาย และเซ็ง

เขาคงแค้นพวกเรามากทีเดียวแหละ เพราะพอออกจากพุ่มไม้ พวกเราก็ขี่จักรยานหนี เขายังอุตส่าห์ขี่มอเตอร์ไซค์ตามมาหา

“ไม่มีการพูดคุยใดๆ เราเพียงสบตากันเท่านั้น”

นี่คือหนึ่งความทรงจำของทับแก้ว


----


สิ่งที่ไม่ได้บอกในงานวันศิลป์ พีระศรี

Ὁ βίος βραχύς, ἡ δὲ τέχνη μακρή, (Vita Brevis, Ars Longa)

"ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว"

ฮิพเพาะเครติส (Hippocrates of Kos) หมอชาวกรีก ผู้เกิดมาแล้ว 2477 ปี เป็นผู้เขียนเอาไว้

ฝรั่งตีความ "Art(ศิลปะ)"ในความหมายของ พี่ฮิพ ว่าใช้แทน "technique, craft" (กลวิธี และทักษะ) หาใช่ "Fine Art"(ทัศนศิลป์) อย่างที่คนยุคปัจจุบันเข้าใจด้วยซ้ำ

ซึ่งประโยคที่ว่า ถูกถอดจากคติพจน์หนึ่งของพี่ฮิพ ซึ่งมีความเต็มดังนี้

Life is short, (ชีวิตมันสั้น) and art long, (และ ศิลปะยืนยาว) opportunity fleeting, (โอกาสมีประเดี๋ยวประด๋าว) experimentations perilous, (การทดลองมันอันตราย) and judgment difficult. (และ การตัดสินใจไม่ง่ายทีเดียว)

"นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร"

เรียนศิลปากร จนจบมาหลายปี ก็เพิ่งรู้วันนี้นี่แหละ


Read : ข้อเขียนชวนอ่านฆ่าเวลา เยียวยาการนอนไม่หลับ

รูปและเรื่อง : Gengo Serkinov. ชื่อรัสเซีย กินเบียร์ต่างน้ำ นักข่าวบ้ากาม ตามข่าวไม่ทัน

79 views0 comments

Comments


bottom of page