top of page
Search
  • Writer's pictureUnderdogs.

Doc : ประเทศไทย ไกล 100 ปี

Updated: Dec 10, 2018


นี่คือ ข้อมูลจากสมุดบันทึกการทำงานของครูใหญ่โรงเรียนบ้านงัวบา อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม เมื่อปี 2461


- ครูใหญ่คนที่ว่าเป็นตาของผม เป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน เป็นครูใหญ่ตั้งแต่เป็นสามเณร ต่อเนื่องเป็นพระ เป็นคน แล้วถึงลาออกมาเป็นกำนัน


- สมุดเล่มนี้บันทึกเรื่องราวตั้งแต่ปี 2461-2464 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


- สมัยก่อน ยังไม่มีการร้องเพลงชาติ เคารพธงชาติ มีเพียงการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และสวดมนต์


- สมัยนั้น วันสิ้นปีคือวันที่ 31 มีนาคม ขึ้นปีใหม่คือ 1 เมษายน หมายความว่าเปลี่ยนพุทธศักราชใหม่ตรงนี้ แต่ก็ไม่ใช่วันหยุดราชการ วันที่ 13 ถึง 15 เมษายน ก็ยังไม่ใช่วันหยุดราชการด้วย ส่วนสาดน้ำกันไหม ไม่ได้ถูกบันทึก


- มีการกล่าวถึงวันพิธีตรุษสงกรานต์ ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ต่อเนื่องเมษายน แต่ก็มีการบันทึกในบางปีว่าเรียนปกติ เท่าที่อ่านเข้าใจว่ายุคนั้น วันสงกรานต์กำหนดตาม การดูข้างขึ้นข้างแรม และส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงใกล้วันที่ 1 เมษายน


- วันที่ 1-3 มกราคม เป็นวันเฉลิมฯ รัชกาลที่ 6 หยุดราชการติดต่อกัน 3 วัน


- สมัยก่อนการลาหยุดของครูจะต้องได้รับการอนุญาตจากกำนัน


- ถ้าพ่อของนักเรียนไม่อยู่ พ่อก็ต้องมาลาให้นักเรียนไปเลี้ยววัวเลี้ยงควายแทน


- เข้าช่วงทำนา นักเรียนบางคนต้องลาโรงเรียนไปช่วยพ่อแม่ทำนา และการขอลา ก็จะถูกบันทึกไว้ด้วย


- ก่อนเข้าแถวนักเรียนต้องล้างหน้าให้สะอาด ในบันทึกวันหนึ่งกล่าวว่า เด็กหน้าไม่สะอาดมาเข้าแถว เลยโดนไล่ไปล้างหน้า (สมัยนั้น สะอาด ยังเขียนว่า สอาด)


- ตอนนั้น แผ่นดินนี้ยังเป็นประเทศสยามอยู่เลย ไม่ใช่ประเทศไทย


- เชื่อว่า จำลอง ดาวเรือง หนึ่งในนักการเมือง "สี่เสืออีสาน" (ที่มีถวิล อุดล ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และเตียง ศิริขันธ์อยู่ด้วย) เสรีไทยสายอีสาน และอดีตรัฐมนตรีใน 4 รัฐบาล เรียนที่โรงเรียนนี้ในยุคนั้นด้วย เพราะเขาเกิดที่บ้านงัวบา และถ้าเทียบปี น่าจะเป็นช่วงที่เขาเข้าประถมต้นพอดี


- 23 ตุลาคม 2461 ถูกบันทึกว่าเป็น “วันพระราชกุศลพระบรมอัฐิ” (รัชกาลที่ 5) หมายความว่า 8 ปีให้หลังการสวรรณคต ก็ยังมีการบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอิฐิอยู่ โดยบันทึกระบุว่า เป็นวันที่นักเรียนได้หยุดเรียนเต็มวัน และสมัยนั้นยังไม่เรียกว่า “วันปิยะมหาราช”


- 30 พฤศจิกายน ถึง 1 มกราคม โรงเรียนหยุดเรียนเพื่อให้นักเรียนไปช่วยพ่อแม่เกี่ยวข้าว(สมัยนั้นเขียนว่า เข้า) ไม่รู้ว่า การหยุดเรียนแบบนี้มีเฉพาะภาคอีสาน หรือเปล่า


- อย่างที่เคยบอกว่า 1-3 มกราคม เป็นวันเฉลิมฯ รัชกาลที่ 6 หยุดต่อเนื่อง 3 วัน แต่มีบันทึกในปี 2461 ว่า นักเรียนโรงเรียนงัวบาทำมึน จนวันที่ 4 มกราคมก็ยังไม่กลับมาเรียนหนังสือตามปกติ ครูใหญ่ไม่รู้จะทำไงเลยปิดโรงเรียนแม่งเลย


- จนถึงวันที่ 7 มกราคม ครูใหญ่บันทึกว่า นักเรียนก็ยังไม่ยอมมาเรียนเลยแจ้งผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยเหลือ แต่ผู้ใหญ่ไม่ช่วย ก็เลยแจ้งกรรมการตำบลให้ช่วยหาวิธีแก้ไข และวันที่ 8 มกราคม นักเรียนจึงได้กลับมาเรียนปกติ


- มีบันทึกอยู่วันนึงว่า มีหนังสือจากอำเภอว่า ให้ครูเก็บเงินจากนักเรียนแต่ไม่ได้แจ้งเหตุผลการเก็บ ให้หลังหนึ่งสัปดาห์ กำนันเอาหนังสือมาให้ที่โรงเรียน 5 เล่ม บันทึกระบุว่า เป็นหนังสือจากเงินของนักเรียน ไม่น่าเชื่อว่าสมัยนั้น หนังสือเรียนแค่ 5 เล่มก็ต้องเก็บเงินจากนักเรียน ถ้าพี่ตูนเกิดเร็วกว่านี้ จะยุให้พี่วิ่งจากกรุงเทพฯไปงัวบาซะหน่อย


- สมัยนั้น วันหยุดเรียนมีเยอะมาก วันบุญมหาชาติ โรงเรียนก็หยุด ครูใหญ่บอกว่า เด็กๆอยากไปดูการเล่นต่างๆ เลยหยุด ถือว่าเป็นครูที่ใจดีมาก


- ช่วงหนึ่งที่ใกล้จะสอบไล่ ที่โรงเรียนประจำอำเภอ ครูใหญ่บันทึกว่า สอนไม่ทัน ก่อนสอบไล่เลยต้องมีสอนภาคค่ำด้วย


- เมื่อครูใหญ่พานักเรียนไปสอบไล่ โรงเรียนก็ต้องหยุดการเรียนการสอนไปด้วย


- การสวดมนต์ และร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีตอนเช้า เรียกรวมๆว่า ประชุมเล็กเชอร์ ส่วนตอนเย็นทำเหมือนเดิมเพิ่มเติมคือ ท่องสูตร์เลข (เข้าใจว่าคือสูตรคูณ)


- เมษายน 2462 มีการพูดถึงวิชาลูกเสือโดยครูที่มาตรวจการสอน ตามประวัติศาสตร์ที่ค้นเพิ่ม ลูกเสือเพิ่งเกิดขึ้นในโลกครั้งแรกปี 2450 โดย จุดมุ่งหมายของลูกเสือคือการสร้างทหารเด็กสอดแนมการรบ ไม่น่าเชื่อว่าเพียง 12 ปีให้หลัง วิชานี้ถูกสอนในโรงเรียนสุดยอดแห่งความกันดารของภาคอีสาน (ทุกวันนี้ยังบ้านนอกอยู่เลย)


- สมัยนั้น มีวิชา เลขคิดในใจ เลขวิธี แปลเขียน เมืองไทย วิทยา ไวยากรณ์ การรักษาตัว คัด อ่าน วาดเขียน ลูกเสือ และจรรยา ผมเคยเถียงกับเพื่อนว่า ที่ทุกวันนี้คนใช้คำว่า จรรยาบรรณ มันเป็นการใช้ที่ผิดเพี้ยน เพราะ จรรยาบรรณ ใช้เฉพาะกับ นักหนังสือพิมพ์ หรือคนทำงานเขียน ส่วนถ้าจะใช้กับอย่างอื่น ให้ใช้แค่จรรยา บวกกับ คำนั้นๆ


- อันนี้นอกบันทึก ผมพบเสารั้ววัดที่เก็บอัฐิของจำลอง ดาวเรือง (นักการเมืองกลุ่ม 4 เสืออีสาน อยู่ที่วัดบ้านสระแก้ว ข้างๆกับเสาที่เก็บอัฐิของผู้เขียนบันทึกการทำงานเล่มที่z,แกะมาให้คุณอ่านอยู่ตอนนี้


Doc : ข้อเขียนละเลงความจริงและเท็จ เปิดเผยบางส่วน แต่ปกปิดบางอย่าง

เรื่องและภาพ : Nontarat Phaicharoen. นักข่าวปลอม เขียนข่าวในประเทศไทย เอาใจเมกา

16 views0 comments
bottom of page